วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

7 ด่านอรหันต์ ที่ต้องฝ่าฟันของนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS



เด็กดีดอทคอม :: เด็กไทยบินเรียนไกลถึงอเมริกา แถมคว้า A มาทุกตัว !!

ก้าวแรก >> แหวกข้อเขียน 
* ข้อสอบ AFS จะมี 2 ส่วน คือส่วนข้อสอบภาษาไทย (20 ข้อ) และข้อสอบภาษาอังกฤษ (80 ข้อ) รวม 100 ข้อ (ข้อสอบภาษาไทยจะอยู่ก่อนข้อสอบภาษาอังกฤษ)
ข้อสอบภาษาไทย หลักๆ จะเกี่ยวข้องกับวิชาภาษาไทยและสังคม เนื้อหาจะแนว O-Net เช่น
- วิชาภาษาไทย เช่น หาสาระสำคัญของข้อความ เสียงวรรณยุกต์ อ่านร้อยกรองแล้วให้ตีความ
- วิชาสังคม เช่น ความรู้รอบตัว ประวัติศาสตร์ การเมือง ภูมิศาสตร์
ข้อสอบภาษาอังกฤษ แนวข้อสอบหากเทียบกับการสอบ O-Net แล้วจะพบว่า ข้อสอบภาษาอังกฤษของ AFS ไม่มีบทความหรือพาสเสจยาวๆ ทีกินเนื้อที่กระดาษไปหน้าสองหน้า ส่วนมากจะเป็นบทความที่ไม่ยาวมาก หรือเป็นตารางข้อมูลอะไรซักอย่าง แล้วให้เราตอบคำถามจากตารางนั้น นอกจากนั้นก็ให้เติมประโยคสนทนา หรือสรุปใจความสำคัญ
*ข้อสอบรุ่นที่แล้วไม่มีส่วนของข้อสอบภาษาไทย*

ก้าวที่สอง  >> มองหาประเทศ 
หลังจากมีชื่อของเราในรายชื่อของผู้สอบผ่านข้อเขียนแล้ว ทาง AFS จะให้น้องๆ เลือกประเทศค่ะ โดยทางเขต AFS ที่เราไปสอบจะแจ้งมาว่า ในเขตนั้นๆ มีประเทศอะไรให้เลือกบ้าง เราสามารถเลือกได้ 3 อันดับ และที่สำคัญ แต่ละประเทศจะมีเกณฑ์อายุของผู้สมัครด้วย เช่น ออสเตรียรับผู้สมัครที่อายุ 15.8 ปีขึ้นไป สวิตเซอร์แลนด์รับผู้สมัครที่อายุ 16 ปีขึ้นไป คอสตาริก้ารับผู้สมัครที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น ดังนั้นน้องๆ คนไหนที่สอบตอนอยู่ม.5 อาจจะโชคดีหน่อยเพราะคงอายุ 16 อัปกันหมดแล้ว แต่ถ้าใครสอบตอนอยู่ม.3 ก็อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องอายุกันนิดนึง (นับอายุในวันที่ออกเดินทางไปแลกเปลี่ยน)

ก้าวที่สาม >> ตามไปสอบสัมภาษณ์ 
ขั้นต่อมาก็ต้องมาสอบสัมภาษณ์ (เหมือนสอบแอดมิชชั่นน่ะแหละแต่คัดออกเยอะกว่า) ซึ่งส่วนมากน้องๆ จะมีเวลาเตรียมตัวหลังจากประกาศผลสอบข้อเขียนแค่ 2-3 วันเท่านั้น หลักสำคัญที่ทุกรุ่นบอกต่อๆ กันมาคือ "อย่าเฟค เป็นตัวของตัวเอง" ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์จะมีทั้งอาจารย์ไทยและอาจารย์ต่างชาติ ถ้าโดนถามภาษาไทยก็ตอบภาษาไทย ถ้าโดนถามภาษาอังกฤษก็ตอบภาษาอังกฤษไป คำถามส่วนมากจะเน้นไหวพริบและการแก้ปัญหา อาจารย์อาจจะสมมติสถานการณ์แล้วให้เราตอบเช่น ถ้าโฮสท์ไม่ชอบหน้าจะทำยังไง ถ้าเกิดหลงทางในเมืองนั้นจะทำยังไง หรือไม่ก็ถามคำถามแบบนางงามคือ ถ้าได้ตำแหน่ง(นักเรียนแลกเปลี่ยน)จะทำอะไรให้แก่ AFS บ้าง (ไว้ พี่เป้ จะมาเขียนเล่าเรื่องสอบสัมภาษณ์แบบละเอียดๆ อีกที)

ก้าวที่สี่ >> ดวงดีเลยต้องเตรียมเอกสาร 
หากผลประกาศออกมาว่าน้องๆ สอบผ่าน (ทั้งตัวจริงและตัวสำรอง) ทาง AFS จะให้น้องๆ ไปรับใบสมัคร ซึ่งน้องๆ จะได้เอกสารปึกใหญ่เป็นสิบๆ ชุดเพื่อให้กรอกรายละเอียดที่จำเป็น เช่น ประวัติครอบครัว ประวัติสุขภาพ ทรานสคริปต์ ใบรับรองจากอาจารย์ ทำแฟ้มประวัติของตัวเอง ขอบอกว่าขั้นตอนนี้ยุ่งยากและวุ่นวายสุดๆ อาจทำให้หลายคนเพลียได้ทีเดียว

ก้าวที่ห้า >> มาๆ มารายงานตัว 
คือรายงานตัวตกลงว่า หนู/ผม สอบผ่านและตกลงจะไปแลกเปลี่ยนนั่นเอง โดยน้องๆ ที่เป็นตัวจริง จะต้องให้คุณพ่อคุณแม่จ่ายเงินสมทบทุนงวดแรก 50,000 บาท (จากจำนวนเต็มประมาณ 300,000-400,000 บาทแล้วแต่ประเทศ) จากนั้นน้องๆ กับคุณพ่อคุณแม่จะต้องเข้าร่วมการปฐมนิเทศเตรียมความพร้อมเบื้องต้นก่อนซึ่งจำเป็นมากๆ ค่ะ ต่อให้น้องจ่ายเงินสมทบทุนงวดแรกแล้วแต่ไม่ไปปฐมนิเทศ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ไปเลย ส่วนคนที่ได้ตัวสำรองก็มีปฐมนิเทศเหมือนกันนะคะ จากนั้นก็รอๆๆ ว่าเมื่อไหร่จะได้เลื่อนเป็นตัวจริงแล้วค่อยจ่ายเงินสมทบทุนงวดแรกค่ะ
ส่วนงวดที่ 2 จะต้องจ่ายประมาณ 100,000 บาท และงวดที่ 3 ก็คือจ่ายจำนวนที่เหลือ โดยช่วงเวลาที่จ่ายนั้นจะแบ่งกันตามภาคพื้น คือ

ภาคพื้นเหนือ (อเมริกาและยุโรป) ออกเดินทางในช่วงกลางปีของอีกปีหนึ่ง จะต้องจ่ายงวดที่ 2 ประมาณตุลาคม และจ่ายงวดที่ 3 ประมาณมีนาคม

ภาคพื้นใต้ (ประเทศที่เหลือนั่นแหละ) ออกเดินทางในช่วงต้นปีของอีกปีหนึ่ง (คือได้ไปก่อนภาคพื้นเหนือ) ก็จะต้องจ่ายเร็วกว่าภาคพื้นเหนือตามนั้น
หลายคนบอกว่า พี่คะ แค่เห็นจำนวนเงินสมทบทุนนี่หนูก็ซีดแล้ว ทำไมแพงจังตั้งหลายแสน? เพราะบางคนอาจไม่รู้ว่า จำนวนเงินจริงๆ ที่ใช้ในการส่งน้องๆ ไปแลกเปลี่ยนนั้น มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาทค่ะ !! นั่นหมายถึงที่เหลือ AFS ช่วยออกให้นั่นเอง ดังนั้น 3-4 แสนที่น้องๆ ต้องจ่ายนั้นคือส่วนหนึ่งเท่านั้น
เด็กดีดอทคอม :: คนบราซิล.....กินเนื้อจระเข้+ปลาปิรันย่า ??!!!
ก้าวที่หก >> ตกหลุมรักค่าย AFS 
การเข้าค่ายจะใช้เวลา 3 วัน มีรุ่นพี่เก่าๆ มาเล่าประสบการณ์การเตรียมความพร้อม มีการเล่นบัดดี้ เต้นสันทนาการ(แจวเรือกันทั้งวัน) แสดงความสามารถ เรียนรู้วัฒนธรรมไทย รับรองว่าสนุกมากๆ จนลืมไม่ลงเลย บางคนพบรักกันในค่ายนี่ด้วยแน่ะ 555

ก้าวที่เจ็ด >> ทุกอย่างเสร็จ เตรียมโบยบิน 
ที่เหลือก็คือการเตรียมตัวเตรียมใจ รอฟังให้ดีว่าเราจะได้โฮสท์อะไรยังไง ซื้อของ จัดกระเป๋า ฝึกรำไทย อะไรก็ว่าไปค่ะ แต่ละคนก็มีวิธีการเตรียมตัวที่แตกต่างกันไปค่ะ ขอแค่ให้พร้อมก็พอ
เด็กดีดอทคอม :: รู้จักนิสัยที่แท้จริงของ คนอาร์เจนตินา

            นั่นก็คือ 7 ก้าวสู่การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ค่ะ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่น้องๆ ไม่มากก็น้อยนะ โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินสมทบทุนนั้น บางคนนึกว่าต้องจ่ายทีเดียวสามสี่แสนเลย พอรู้อย่างนี้อาจจะพอหายใจหายคอกันได้โล่งขึ้นนะคะ 5555 ส่วนสัปดาห์หน้า พี่เป้ จะเขียนเคล็ดลับการเลือกประเทศให้ได้อ่านกัน อย่าลืมติดตามนะ


3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ ผมอยู่ม.4
    กำลังสมัครเลย.

    ตอบลบ
  2. ผมว่านะ ด่านโหดสุดก็ตอนกลับนี่แหละ ร้องไห้แทบเป็นแทบตายไม่อยากกลับไทย

    AFS USA #44

    ตอบลบ
  3. กำลังจะสอบสัมภาษณ์แล้วจ้า ขอบคุณมากค้ะ^^

    ตอบลบ